วัคซีนโรต้า เสริมเกราะป้องกันแก่ลูกน้อยให้ห่างไกลท้องร่วง
September 19 / 2024

อาการท้องร่วงในเด็ก...
อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม เสริมเกราะป้องกันแก่ลูกน้อยให้ห่างไกลท้องร่วงด้วยวัคซีนโรต้า

 

วัคซีนโรต้า เสริมเกราะป้องกันแก่ลูกน้อยให้ห่างไกลท้องร่วง

 

          เนื่องด้วยระบบภูมิคุ้มกันยังอ่อนแอ สุขภาพของลูกน้อยจึงเปราะบางและจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ล่วงรู้เรื่องไวรัสโรต้า พร้อมเสริมเกราะป้องกันแก่ลูกน้อยด้วยวัคซีนโรต้าให้ห่างไกลจากภัยท้องร่วงได้ตลอดฤดู

 

ไวรัสโรต้า คืออะไร

          ไวรัสโรต้า (Rota Virus) คือไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเยื่อบุลำไส้อักเสบในเด็กหรือทารก ทำให้เกิดอาการท้องร่วงร่วมอาการอื่นไม่ว่าจะเป็นอาเจียน อุจจาระเหลวมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว มีไข้และเกิดภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะน้อย บางรายที่อาการรุนแรงอาจขาดน้ำและเกลือแร่จนเกิดช็อคได้

 

ระยะแสดงอาการ

          โรคนี้มีระยะฟักตัว 1-2 วัน เมื่อแสดงอาการจะกินเวลาตั้งแต่ 3 - 8 วัน

 

ติดเชื้อได้ด้วยวิธีใดบ้าง

  • ติดเชื้อจากการสัมผัสเชื้อ สิ่งของที่ติดเชื้อและนำเข้าปาก
  • รับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน
  • อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กซึ่งอาจติดจากเด็กที่มีเชื้อ

 

วัคซีนโรต้า

          แม้ไม่มียาเฉพาะสำหรับใช้รักษา ทว่าปัจจุบันแพทย์นิยมใช้วัคซีนโรต้า ชนิดหยอดเพื่อทุเลาความรุนแรงจากไวรัส โดยทั่วไปแบ่งการใช้อยู่ 2 รูปแบบสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์เป็นต้นไป

  • Type I หยอด 2 ครั้ง อายุที่แนะนำ 2 และ 4 เดือน
  • Type II หยอด 3 ครั้ง โดยหยอดครั้งสุดท้ายภายในอายุ 8 เดือน

หมายเหตุ: ควรเว้นระยะอย่างน้อย 4 สัปดาห์/ครั้ง

 

ผลข้างเคียง

          แม้ส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนจะไม่แสดงอาการใด ทว่าในบางรายอาจแสดงอาการหลังได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า เช่น ถ่ายเหลว ไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร เป็นต้น ซึ่งอาการจะเริ่มทุเลาลงเมื่อเวลาผ่านไป

 

ข้อควรระวัง
          1. โปรดบอกแพทย์ให้ทราบหากเด็กมีกลุ่มอาการแพ้อื่น
          2. ควรเลื่อนการให้วัคซีนโรต้าหากมีไข้สูงรุนแรงเฉียบพลัน
          3. กรณีที่เด็กเป็นโรคทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception) โรคทางระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง  แพทย์จะเลือกหนทางรักษาที่เหมาะสมตามดุลยพินิจ
          4. ไม่ควรให้วัคซีนแก่เด็กที่มีประวัติเป็นโรคระบบทางเดินอาหารผิดปรกติแต่กำเนิดโดยที่ยังไม่ได้รับการรักษา
          5. ไม่ควรใช้กับผู้ใหญ่ สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร


ป้องกันโรคไวรัสโรต้า
          นอกจากนี้เรายังเสริมการป้องกันโรคไวรัสโรต้าแก่ลูกน้อยด้วยการ

  • ปรุงอาหารให้สุกใส่ภาชนะที่สะอาด
  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอก่อนสัมผัสตัวเด็ก
  • เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ
  • หมั่นทำความสะอาดสิ่งของหรือบริเวณที่เด็กอยู่เป็นประจำ

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
 แผนกเด็ก ชั้น 1 โรงพยาบาลรามคำแหง 2
Email:
information@ram2-hosp.com
Line Official: @ram2
โทร: 02-032-3888, 095-771-9739

 


แนะนำแพทย์แผนกเด็ก

 

 


แพ็กเกจที่แนะนำ