การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการฉายรังสีรักษา
December 11 / 2024

 

รักษามะเร็งเต้านม ฉายรังสี

 

 

     มะเร็งเต้านมถือเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย โดยอัตราการเกิดโรคดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งในประเทศไทย ปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรม (screening mammogram) ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคในระยะแรกเริ่มได้มากขึ้น

 

มะเร็งเต้านมกับทางเลือกรักษาที่หลากหลาย

     นอกจากนี้ การบูรณาการวิธีการรักษาที่หลากหลาย เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยฮอร์โมน การฉายรังสี ซึ่งส่งผลให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยลดอัตราการเสียชีวิตและการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้อย่างมีนัยสำคัญ 

 

 

รักษามะเร็งเต้านม รังสีวิทยา

ข้อมูลสถิติ 10 ปี ของผู้ป่วยที่มารับการฉายรังสีแยกตามโรค จากสมาคมรังสีรักษาแห่งประเทศไทย
(https://www.thastro.org/Statistics-Online.php)

 

 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

     มะเร็งเต้านมเกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ในเนื้อเยื่อเต้านม โดยสาเหตุที่แท้จริงมักเป็นผลจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม ฮอร์โมน และสิ่งแวดล้อม

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญประกอบด้วย

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม การกลายพันธุ์ในยีน เช่น BRCA1 และ BRCA2 ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ
  • อายุ ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • ประวัติประจำเดือนและการมีบุตร การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ และการมีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี
  • วิถีชีวิต พฤติกรรมที่เสี่ยง เช่น โรคอ้วน การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
  • การใช้ฮอร์โมนทดแทน การใช้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy - HRT) เป็นระยะเวลานานมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

 

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลลัพธ์การรักษา แนวทางการตรวจคัดกรองในประเทศไทย:

 

  • การตรวจเต้านมโดยแพทย์เป็นประจำทุกปี สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) ทุก 1-2 ปี สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป


อาการและการแสดงออกทั่วไป

อาการของมะเร็งเต้านมอาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่:

 

  • การคลำพบก้อนที่เต้านมหรือบริเวณรักแร้
  • การเปลี่ยนแปลงของขนาด รูปทรง หรือรูปลักษณ์ของเต้านม
  • การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น รอยย่น รอยแดง หรือการหนาตัว
  • การมีของเหลวไหลออกจากหัวนม โดยเฉพาะของเหลวที่มีเลือดปน
  • การบุ๋มหรือความผิดปกติบริเวณหัวนม รวมถึงอาการปวดเฉพาะจุดในเต้านม

 

 

รักษามะเร็งเต้านม รังสีวิทยา
เครื่องจำลองการฉายรังสีแบบ 3 มิติ (CT simulator) 


การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม

การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมจำเป็นต้องอาศัยการตรวจประเมินที่ครอบคลุม ซึ่งประกอบด้วย:

 

  • การตรวจร่างกาย การซักประวัติและตรวจเต้านมอย่างละเอียด
  • การตรวจทางภาพถ่าย (Imaging Studies):
    • Mammogram: วิธีมาตรฐานสำหรับการตรวจพบในระยะแรก
    • Ultrasound: เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่น
    • MRI (Magnetic Resonance Imaging): ใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือเมื่อผลตรวจเบื้องต้นไม่ชัดเจน

 

  • การตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy)
    • การเจาะด้วยเข็มขนาดเล็ก (Fine Needle Aspiration - FNA), การตัดชิ้นเนื้อ (Core Biopsy) หรือ
    • การผ่าตัดชิ้นเนื้อ (Excisional Biopsy)
  • การตรวจทางพยาธิวิทยาและโมเลกุล (Pathology and Molecular Studies)
    • การตรวจหาสถานะของตัวรับฮอร์โมน (Estrogen Receptor - ER, Progesterone Receptor - PR) และ HER2 เพื่อวางแผนการรักษ
  • การตรวจระยะของโรค การตรวจด้วย CT scan หรือ Bone scan เพื่อตรวจการแพร่กระจายของโรค

 

 

รักษามะเร็งเต้านม รังสีวิทยา

 

แนวทางการรักษามะเร็งเต้านม

การรักษามะเร็งเต้านมขึ้นอยู่กับระยะและลักษณะของโรค โดยการดูแลจากทีมสหสาขาวิชาชีพเป็นสิ่งสำคัญ

 

1.  การผ่าตัด

  • การผ่าตัดรักษาเต้านม (Lumpectomy) การตัดเฉพาะเนื้องอกและเนื้อเยื่อโดยรอบ
  • การตัดเต้านม (Mastectomy) การผ่าตัดเต้านมทั้งหมด อาจรวมถึงการสร้างเต้านมใหม่ในกรณีที่เหมาะสม
  • การผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง การตรวจวินิจฉัยหรือตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้เพื่อประเมินการแพร่กระจายของโรค

 

2.  การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy)

  • ใช้ในระยะเริ่มต้นเพื่อเสริมการรักษา ทั้งก่อนหรือหลังการผ่าตัด 
  • ใช้ในระยะลุกลามเพื่อควบคุมตัวโรคหรือเพื่อประคับประคองอาการ

 

3.  การรักษาด้วยรังสี (Radiotherapy)

  • ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดรักษาเต้านม (Lumpectomy) การฉายรังสีภายหลังการผ่าตัดช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรคมะเร็งในส่วนเนื้อเต้านมที่เหลืออยู่ให้มีผลลัพธ์ใกล้เคียงกับการผ่าตัดเต้านมทั้งเต้า (Mastectomy)
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมทั้งเต้า (Mastectomy) การฉายรังสีภายหลังการผ่าตัดตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ช่วยลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งในบริเวณที่ได้รับการผ่าตัด
  • ผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง การฉายรังสีภายหลังการผ่าตัดตามข้อบ่งชี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรคมะเร็งทั้งบริเวณเต้านมและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง

 

4.  การรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy)

  • เหมาะสำหรับมะเร็งที่ตอบสนองต่อตัวรับฮอร์โมน Estrogen Receptor (ER) และ Progesterone Receptor (PR) ตัวอย่างยา ได้แก่ tamoxifen หรือยากลุ่ม aromatase inhibitors

 

5.  การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy)

  • ยากลุ่มนี้ เช่น Trastuzumab และ Pertuzumab ใช้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มี HER2-positive ให้มีประสิทธิภาพการรักษามากยิ่งขึ้น

 

สรุป

     มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่พบได้บ่อยและมีปัจจัยเสี่ยงหลากหลาย การตรวจคัดกรองที่เหมาะสมและการวินิจฉัยอย่างแม่นยำมีความสำคัญอย่างยิ่งในการค้นพบโรคในระยะแรกเริ่ม ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี แนวทางการรักษามะเร็งเต้านมประกอบด้วยหลายวิธี เช่น การผ่าตัด เคมีบำบัด การฉายรังสี ฮอร์โมนบำบัด และการรักษาแบบมุ่งเป้า
 

 


ในส่วนของการฉายรังสีนั้น มีบทบาทสำคัญทั้งในระยะแรกเริ่มและระยะลุกลาม โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหรือกรณีที่โรคแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง การฉายรังสีช่วยลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำและมีประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่กระจายของโรค

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
 ศูนย์ฉายแสง 4 มิติและเคมีบำบัด ตึก LINAC CENTER โรงพยาบาลรามคำแหง 2
Email:
information@ram2-hosp.com
Line Official: @ram2
โทร: 02-032-3888

 

 

 


บทความโดย

 

นพ.ณัฏฐกร ธนมิตรสมบูรณ์
นพ.ณัฏฐกร ธนมิตรสมบูรณ์

แพทย์เฉพาะทางด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
โรงพยาบาลรามคำแหง 2

 

นัดพบแพทย์ นัดหมายแพทย์ Book Appiontment
 

 


แพ็กเกจที่แนะนำ