เนื้องอกในสมอง รักษาได้ไหม?
เนื้องอกในสมอง รักษาได้ไหม?
April 21 / 2020

 

 

เนื้องอกในสมอง รักษาได้ไหม?

 

 

เนื้องอกในสมอง โรคทางระบบประสาท

 

เริ่มต้น…แค่ฟังชื่อโรค ผมเชื่อว่า คงไม่มีใครอยากให้ตัวเอง ญาติ เพื่อน หรือ คนรู้จัก ต้องมีเนื้องอกเกิดขึ้นโดยเฉพาะในสมอง เพราะทุกคนทราบดีว่า สมองเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เป็นเครื่องส่งสัญญาณให้ชีวิตสามารถดำเนินต่อไปได้ สมองทำให้เรามีความรู้สึก คิดได้ จำได้ และก็รักได้ เราจึงไม่อยากให้เกิดอะไรผิดปกติกับสมองของเราแม้เพียงนิดเดียว ดังนั้น ทุกครั้งที่มีอะไรเกิดขึ้นกับสมองเรา ความกังวล สงสัย ตกใจ มักจะถาโถมเข้ามา รวมถึงความคิดที่ว่าหากสมองเกิดเป็นอะไรหนักขึ้นมา ชีวิตจะเป็นยังไงต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าความรู้สึกด้านลบพวกนี้ มักจะส่งออกมาให้ผมสัมผัสได้ จากการพูดคุยกับคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีเนื้องอกในสมอง

 

ในฐานะของหมอศัลยกรรมประสาท ที่เจอคนไข้ที่มาด้วยโรคเนื้องอกในสมองเป็นประจำ ผมคิดว่าการรักษาโรคเนื้องอกในสมองนั้นต้องเริ่มการรักษาจากอาการหลักที่มีของคนไข้ ณ ตอนนี้ก่อน นั่นคือ ความกังวลต่อโรคเนื้องอกในสมองที่ดูน่ากลัว ความสงสัยว่ามันมาจากไหน รักษาได้ไหมแล้วจะเสียชีวิตเหมือนในหนังหรือละครรึเปล่า ดังนั้นหากเป็นตัวคุณเอง หรือ ญาติพี่น้อง มีเนื้องอกในสมอง แล้วอ่านมาถึงบรรทัดนี้ ผมอยากให้คุณหายใจเข้าออกช้าๆ ทำใจให้สบาย ดึงสติกลับมาก่อน  เพราะมันคือ จุดเริ่มต้นที่สำคัญของการที่เราจะเริ่มรักษาโรคเรื้องอกในสมองกัน แล้วเดี๋ยวผมจะเฉลยตอนจบว่ามันสำคัญยังไงครับ

 

นพ. นภสินธุ์ เถกิงเดช

ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมสมอง

 

 

เนื้องอกในสมอง มีกี่ชนิด?

 

เวลาพูดถึงเนื้องอกในสมอง ผมจะบอกคนไข้เสมอว่า มันมี 2 แบบ คือ แบบดี กับ แบบไม่ดี ต่างกันที่แบบดีนั้นคือเนื้องอกที่โตช้า ส่วนใหญ่ใช้เวลาหลายปีในการที่ขนาดของเนื้องอกจะใหญ่ขึ้น ส่วนแบบไม่ดีหรือแบบร้ายนั้น คือ เนื้องอกที่โตเร็ว ซึ่งอาจใช้เวลาแค่ 3-4 สัปดาห์ ก็มีขนาดเท่าตัวได้ ซึ่งพวกแบบไม่ดีนี้แหละ ที่เรามักจะเรียกมันว่า"มะเร็ง" ดังนั้น ถ้าถามว่าเนื้องอกในสมองที่ได้รับการวินิฉัยว่าเป็นนั้น เป็นแบบไหนกันแน่ ซึ่งถ้าคุณไม่มีประวัติว่าเป็นมะเร็งในร่างกาย ในทางสถิติแสดงให้เห็นว่าอย่าพึ่งกังวลมากครับ เพราะ 70% ของเนื้องอกในสมองนั้น เป็นเนื้องอกแบบดี ไม่ใช่เนื้อมะเร็งร้ายที่ต้องเสียชีวิตไวแบบในหนัง หลังจากที่พอจะทราบกันแล้วว่าเป็นเนื้องอกในสมองแบบไหน หน้าที่ต่อไปของหมอ คือ ต้องพยายามระบุชนิดของมันให้ได้ ซึ่งในปัจจุบัน เนื้องอกในสมองนั้นแบ่งย่อยออกได้เป็น เกือบ 130 ชนิด  โดยในการระบุชนิดนั้น ผมขอแบ่งออกเป็น 2 แบบ ง่ายๆ คือ เนื้องอกที่กำเนิดมาจากเซลล์สมองเอง และ เนื้องอกที่ไม่ได้มาจากเซลล์สมอง นั่นคือพวกที่มากจากอวัยวะรอบๆ สมอง เช่น เยื่อหุ้มสมอง กระโหลก หรือ ปลอกหุ้มเส้นประสาท หรือ เป็นเนื้อร้ายที่กระจายมาจากส่วนอื่น แล้วมากดเบียดเนื้อสมอง ความต่างของชนิดเนื้องอกนี้เองที่ทำให้แผนการรักษา และการพยากรณ์โรค (แนวโน้มของโรคว่าจะเป็นยังไงในอนาคต) นั้นต่างกัน แต่การที่จะยืนยันชนิดของเนื้องอกในสมองแบบ 100% ได้นั้น คือ ต้องตรวจชิ้นเนื้อครับ ดังนั้นเวลาที่คุณหมอให้ความเห็นก่อนที่จะได้ผลชิ้นเนื้อ นั่นคือความน่าจะเป็นมากที่สุดจากประวัติและภาพเอกซเรย์ว่าเนื้องอกของคุณน่าจะเป็นแบบไหน

 

 

 

อีกอย่างที่พิเศษสำหรับเนื้องอกในสมอง ที่ไม่เหมือนในเนื้องอกชนิดอื่นคือ เราจะไม่มีการแบ่งระยะ (Stage) ของเนื้องอกนะครับ ว่าอยู่ระยะไหนแล้ว แต่จะใช้การแบ่งเกรดของเนื้องอกโดย WHO classification แทน โดยเราจะใช้ว่า เป็น WHO grade ไหนตั้งแต่ 1-4 โดยที่เกรด 1 คือ พวกเนื้อดี เติบโตช้า ไล่ไปจนถึงเกรด4 คือ พวกเนื้อร้าย เติบโตไว

 

 

เนื้องอกในสมอง รักษาได้ไหม?

 

คำตอบคือ เนื้องอกในสมองรักษาได้ครับ…แต่ว่าผลการรักษานั้นจะขึ้นกับชนิด ขนาด และตำแหน่งของเนื้องอกในสมองโดยผมขอแบ่งวิธีรักษาออกเป็น 3 วิธี แบบนี้นะครับ

 

แบบแรก คือ แบบที่คนไข้เกือบทุกคนอยากได้รับฟังจากแพทย์ นั้นคือสามารถใช้การเฝ้าติดตามเพื่อดูขนาดและพฤติกรรมของเนื้องอกในสมองอย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่คนไข้ในกลุ่มนี้จะไม่มีอาการผิดปกติ และมักจะเจอเนื้องอกในสมองโดยบังเอิญ จากการตรวจด้วย CT หรือ MRI เนื้องอกในสมองพวกนี้ส่วนใหญ่อยู่มานานและอยู่แบบเป็นมิตรกับสมองเรา ในเมื่อเขาอยู่โดยไม่ได้รบกวนเรา เราก็ไม่ควรไปรบกวนเขาเช่นกันครับ ต่างคนต่างอยู่แบบเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้แต่ต้องไม่ประมาท

 

ส่วนอีก 2 วิธีการรักษาที่เหลือ แน่นอนว่าต้องใช้เมื่อเนื้องอกในสมองทำให้มีอาการผิดปกติ หรือ เป็นเนื้อดีในกลุ่มที่ผ่านการเฝ้าดูแล้ว แต่มีขนาดใหญ่ขึ้น คล้ายๆ กับว่าถึงเวลาที่เราต้องสู้กับเนื้องอกละ

 

 

 

โดยวิธีที่ 2 ก็คือ การรักษาโดยการผ่าตัดนั่นเอง แน่นอนว่าการผ่าตัดสมองนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องที่ฟังดูน่ากลัว กลัวจะไม่ตื่น กลัวจะพิการ กลัวจะเสียชีวิต ทำให้การผ่าตัดนี้จำเป็นต้องใช้ความชำนาญของประสาทศัลยแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยครับ

 

โดยพื้นฐานแล้วหลักสูตรที่กว่าจะจบเป็นหมอเฉพาะทางด้านการผ่าตัดสมองได้ในประเทศไทยนั้นใช้เวลาในการเรียนต่อถึง 5 ปี (หลังจากจบแพทย์ 6 ปี และ ไม่รวมช่วงเวลาของการใช้ทุน) ซึ่งกว่าจะได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางนี้จริงๆ ในประเทศไทยนั้นต้องผ่านด่านการฝึกฝนมาพอสมควรเพื่อที่จะทำการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมองได้อย่างปลอดภัย นอกจากทักษะส่วนตัวของหมอผ่าตัดแต่ละท่านแล้ว ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผลการรักษาออกมาดี เทคโนโลยีทำให้มีการพัฒนาเครื่องมือผ่าตัดสมองขึ้นมากมาย ทำให้การผ่าตัดสมองมีความแม่นยำ ปลอดภัย ลดโอกาสการเสียชีวิตและพิการ ผมมักจะคิดว่าการผ่าตัดเปรียบเทียบได้กับการออกรบ จุดมุ่งหมายคือต้องชนะเท่านั้น ดังนั้น ทักษะที่ดี การวางแผนรบที่เฉียบขาด พร้อมอาวุธครบมือ (อุปกรณ์ผ่าตัด) คือกุญแจสำคัญที่ทำให้การรบครั้งนี้สำเร็จบรรลุตามจุดมุ่งหมาย

 

เครื่องนำวิถี (Navigator) ช่วยกำหนดเป้าในการผ่าตัดรักษาโรคในสมอง

ที่มา : ขอบคุณภาพจาก นพ. นภสินธุ์ เถกิงเดช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมสมอง

 

 

ส่วนวิธีสุดท้ายในการรักษาเนื้องอกในสมอง คือ การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ประกอบด้วย

  • การฉายแสง
  • การให้เคมีบำบัด
  • การให้ยาที่จำเพาะกับชนิดเนื้องอก

โดยวิธีการรักษานี้ เรามักจะใช้เป็นวิธีทางเลือก หรือ ควบคู่ไปกับการผ่าตัด มากกว่าที่จะใช้เป็นวิธีหลักในการรักษาเนื้องอกในสมองครับ

 

 

 

หลังจากที่ทราบว่ารักษาเนื้องอกในสมองได้ ตรงนี้ผมคิดว่าหลายคนคงยังสงสัยว่าที่ว่ารักษาได้ ผลการรักษามันเป็นยังไงหายขาดไหม อย่างที่ผมเคยเล่าไว้แล้วนะครับว่าผลการรักษาขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง แต่จากหลายๆ การศึกษานั้นแสดงให้เห็นว่า มีเนื้องอกในสมองหลายชนิดที่สามารถหายได้ โดยที่โอกาสกลับมาเป็นซ้ำนั้นต่ำมากครับ ตรงนี้อยากให้ทุกท่านสบายใจและเตรียมพร้อมสำหรับการรักษาเนื้องอกในสมองในทุกขั้นตอนนะครับ

 

 

อะไรทำให้เกิดเนื้องอกในสมองนะ?

 

แล้วก็มาถึงคำถามสุดท้ายที่ผู้ป่วยอยากรู้ แต่มักไม่ได้คำตอบนั้นคือ ทำไมถึงเป็นโรคเนื้องอกในสมอง โรคเนื้องอกในสมองมีสาเหตุมาจากอะไร อะไรทำให้เนื้องอกในสมองโตขึ้น  ซึ่งคำตอบที่น่าจะพอเดาได้คือ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เป็นกรรมพันธุ์ มันอาจส่งมาทางพันธุกรรมก็ได้  หรือมีประวัติว่าเคยโดนรังสี เคยติดเชื้อ อุบัติเหตุ…. ใช่ครับ คำตอบเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ทว่าในปัจจุบันนี้ เมื่อมีความรู้ทางด้าน epigenetic มากขึ้น (epigenetic แปลง่ายๆ คือ กลไกที่เกิดขึ้นก่อนระดับพันธุกรรม ที่มีผลต่อยีนเราได้) เราพบว่า มีปัจจัยทางด้าน epigenetic หลายอย่างที่อาจส่งผลทำให้เกิดเนื้องอกในสมองได้ โดยสาเหตุที่สำคัญ คือ ไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะกับ การจัดการความเครียดเรื้อรัง เราทราบว่าความเครียดสามารถส่งสัญญาณให้ เกิดการหลั่งของ ฮอร์โมนความเครียด มีผลให้ยีนทำงานผิดไปจากเดิม ทำให้เกิดการกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิดปกติ และลดการกำจัดเซลล์ผิดปกติ ซึ่งสุดท้ายมีผลต่อการเจริญเติบโตของเนื้องอกในสมองได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม ผมจึงแนะนำว่า การรักษาเนื้องอกในสมอง ต้องเริ่มจากใจก่อน พยายามดึงสติไว้ อย่าปล่อยให้เครียดเกินการควบคุม เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายเตรียมพร้อมต่อสู้กับโรคเนื้องอกในสมอง  

 

 

สรุปสั้นๆ ว่า

 

เนื้องอกในสมองนั้นสามารถรักษาได้ แต่ผลของการรักษาเนื้องอกในสมองนั้นอาจจะมีความต่างกันแล้วแต่ชนิด ตำแหน่ง และขนาด ของเนื้องอก นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่ควรต้องทราบหลังจากได้รับการวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมองนะครับ คือ

  1. เนื้องอกในสมองเป็นเนื้อดีหรือไม่ดี
  2. เกิดจากเซลล์สมองเองหรือไม่
  3. วิธีการรักษาที่เหมาะสมในเวลานี้คืออะไร

และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องอย่าลืมดูแลใจให้เข้มแข็งไว้ตลอดนะครับ เมื่อเรามีสติจะทำให้เรารู้จัก เข้าใจ บางสิ่งบางอย่างได้ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้นครับ

 

การรักษาเนื้องอกในสมอง ต้องเริ่มจากใจก่อน อย่าปล่อยให้เครียดเกินการควบคุม เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายเตรียมพร้อมต่อสู้กับโรคเนื้องอกในสมอง

เนื้องอกในสมองที่ไม่ได้มาจากสมอง : Brain Metastases อ่านเพิ่มเติม คลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1037

 

เนื้องอกในสมองที่เงียบที่สุด อะคูสติก- นิวโรมา อ่านเพิ่มเติม คลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1014

 

เนื้องอกต่อมใต้สมอง: เนื้องอกที่เกิดตรงส่วนเล็กๆ ของสมอง แต่กลับต้องใช้แพทย์ทีมใหญ่ในการรักษา อ่านเพิ่มเติม คลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/710

 

เมนิงจิโอมา (meningioma) : เนื้องอกในสมองสุดคลาสสิค อ่านเพิ่มเติม คลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/686

นัดพบแพทย์คลิก

นพ. นภสินธุ์ เถกิงเดช

ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมสมอง

  1. De Robles P, Fiest KM, Frolkis AD, et al. The worldwide incidence and prevalence of primary brain tumors: a systematic review and meta-analysis. Neuro Oncol 2015;17:776-83.
  2. Perkins A, Liu G. Primary Brain Tumors in Adults: Diagnosis and Treatment. Am Fam Physician 2016;93:211-7.
  3. Hunter RG. Epigenetic effects of stress and corticosteroids in the brain. Front Cell Neurosci 2012;19;6:18
  4. Mack SC, Hubert CG, Miller TE, et al. An epigenetic gateway to brain tumor cell identity. Nat Neurosci 2016;19:10-9.
  5. Sapienza C, Issa JP. Diet, Nutrition, and Cancer Epigenetics. Annu Rev Nutr 2016;36:665-81.
  6. Alegría-Torres JA, Baccarelli A, Bollati V. Epigenetics and lifestyle. Epigenomics 2011;3:267-77.
  7. Esteller M. Epigenetics provides a new generation of oncogenes and tumour-suppressor genes. Br J Cancer 2006;94:179-83.
  8. Nieto SJ, Patriquin MA, Nielsen DA, et al. Don't worry; be informed about the epigenetics of anxiety. Pharmacol Biochem Behav 2016;146-147:60-72.
  9. Quick brain tumor fact ( https://braintumor.org/brain-tumor-information/brain-tumor-facts/)