วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่ตับในระยะยาว
January 28 / 2025

 

วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

 

 

          การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดภาวะอักเสบของเซลล์ตับ หากปล่อยทิ้งไว้จะสามารถทำให้เกิดโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับได้ 

 

โรคไวรัสตับอักเสบบี สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่

1. โรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดเฉียบพลัน

     มีความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยถึงมาก ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง มักมีอาการหลังได้รับเชื้อ 1-3 เดือน และอาการจะดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ โดยร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา

 

2. โรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง

     เป็นการติดเชื้อที่มีระยะเวลานานกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยอาจมีอาการหรืออาจไม่มีอาการใด ๆ เลย โรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดนี้สามารถนำไปสู่โรคตับชนิดอื่น ๆ ได้ เช่น โรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับได้

 

ไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อได้จากทางใด

     ไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อผ่านทางบาดแผลทางผิวหนัง การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การถ่ายทอดจากมารดาที่ติดเชื้อสู่ทารก

 

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

     เป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เมื่อฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีครบ 3 เข็ม ส่วนใหญ่ร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ถึง 97% และสามารถป้องกันการติดเชื้อได้นานตลอดชีวิต แม้เวลาผ่านไประดับของภูมิคุ้มกันอาจลดลงแต่หากมีการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ร่างกายก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้

 

ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

  • ผู้ที่ตรวจเลือดพบว่ายังไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • เด็กแรกเกิด และผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนเมื่อแรกเกิด
  • ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี บุคลากรทางการแพทย์
  • ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง หรือโรคไตเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
  • ผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงเรื่องพฤติกรรมทางเพศ เช่น รักร่วมเพศ มีคู่นอนหลายคน

 

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ต้องฉีดจำนวนกี่เข็ม

     ในผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี จะต้องได้รับวัคซีนจำนวนทั้งสิ้น 3 เข็ม โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ระยะเวลาห่างกันที่ 0, 1, 6 เดือน 

 

หากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรทำอย่างไร

     หากพบว่าตัวเองติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจพบได้โดยการเจาะเลือดตรวจ HBsAg (แอนติเจนไวรัสตับอักเสบบี) บ่งบอกถึงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลตนเอง และป้องกันตนเองไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนใกล้ตัว

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
 แผนกระบบโรคทางเดินอาหารและตับ ชั้น 1 โรงพยาบาลรามคำแหง 2
Email:
information@ram2-hosp.com
Line Official: @ram2
โทร: 02-032-3888, 095-771-9739

 


แนะนำแพทย์แผนกโรคตับและระบบทางเดินอาหาร

 

 


แพ็กเกจที่แนะนำ