ภูมิแพ้ขึ้นตา แค่รู้สาเหตุ ป้องกันได้
January 13 / 2025

ภูมิแพ้ขึ้นตา

 

 

     หนึ่งในอาการที่ก่อให้เกิดความไม่สบายตามากที่สุด คงหนีไม่พ้นอาการคันตา ซึ่งสร้างความรำคาญไม่น้อย มักจะขยี้บริเวณเปลือกตา ทำให้ส่งผลเสียต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสุขภาพตา การติดเชื้อบริเวณเยื่อบุตา และบุคลิกภาพ

 

โรคภูมิแพ้ขึ้นตา

     ภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic conjunctivitis) คือการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นซึ่งส่งผลให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตา ทั้งยังพบได้บ่อย 10-20 เปอร์เซ็นต์ในประชากรทั่วไป เมื่อเกิดอาจกระทบต่อกระจกตาและมีอาการทางจมูก (Allergic rhinoconjunctivitis) ร่วมด้วยได้ ความรุนแรงของโรคมีตั้งแต่ระดับน้อยไปถึงมากจนเกิดภาวะแทรกซ้อน ความรุนแรงนี้ยังส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการเรื้อรังหรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม 

 


ประเภทของภูมิแพ้ขึ้นตา

1. อาการแพ้และอักเสบเฉพาะที่เยื่อบุตา

  • ภูมิแพ้ขึ้นตาเฉียบพลัน (Acute allergic conjunctivitis) ส่วนใหญ่มักมีอาการภายใน 24-48 ชั่วโมง หลังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น รังแคแมว ขนแมว เป็นต้น มักมีอาการแสดงมาก ตาแดง คันตา น้ำตาไหล เปลือกตาบวม 
  • ภูมิแพ้ขึ้นตาตามฤดูกาล (Seasonal allergic conjunctivitis) มักมีอาการไม่รุนแรง เป็นพร้อมๆ กัน 2 ข้าง และเป็นช่วงเวลาเดิมของทุกปี  สิ่งกระตุ้น เช่น เกสรดอกไม้ หญ้า
  • ภูมิแพ้ขึ้นตาตลอดทั้งปี (Perennial allergic conjunctivitis) มีอาการแพ้ตลอดทั้งปี มักสัมผัสสิ่งกระตุ้นตลอดเวลา เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ เชื้อรา


2. อาการแพ้และอักเสบที่เยื่อบุตาและกระจกตา

อาการมักรุนแรง และมีความซับซ้อนในการวินิจฉัยและรักษามากขึ้น

 

  • Vernal keratoconjunctivitis (VKC) พบมากในเด็ก ในช่วงอายุประมาณ 11-13 ปี อาการมักกำเริบช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน 
  • Atopic keratoconjunctivitis (ATC) สัมพันธ์กับการเกิดโรคหอบหืดและผื่นแพ้ผิวหนัง มักมีประวัติคนครอบครัวมีอาการเดียวกัน อาการแพ้เกิดได้ทุกฤดูกาล การสัมผัสสารกระตุ้นจะเพิ่มความรุนแรงของอาการแพ้ได้
  • Giant papillary conjunctivitis (GPC) พบในผู้ใช้เลนส์สัมผัส (contact lens) ผู้ที่เคยรับการผ่าตัดบริเวณดวงตาและมีการเย็บไหมบริเวณเยื่อบุตา อาจทำให้มีความผิดปกติของเปลือกตา เปลือกตาบวมหรือหนังตาตกได้ หากไม่ได้รับการรักษา


อาการของภูมิแพ้ขึ้นตา

  • คันเคืองตา
  • คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมในตา
  • แสบตา น้ำตาไหลมากผิดปกติ
  • ตามัว อาจพบภาวะสายตาเอียงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก
  • ตาแดง เยื่อบุตาอักเสบหรือติดเชื้อ
  • มีขี้ตาตลอดเวลา
  • เปลือกตาบวม แดง เปลือกตาล่างคล้ำ

 

 

ภูมิแพ้ขึ้นตา

 

 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำเกิดภูมิแพ้ขึ้นตา

     อาการเหล่านี้เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้มีการหลั่งฮีสตามีน (Histamine) มาต่อต้านสิ่งกระตุ้นนั้น เช่น ฝุ่นละออง ควันไฟ เกสรดอกไม้ เชื้อรา ขนสัตว์ ไรฝุ่น สารเคมี อาทิ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ฯลฯ

 

การตรวจวินิจฉัยภูมิแพ้ขึ้นตา

  • จักษุแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสัญญาณต่างๆ ของเยื่อบุตาและกระจกตาอักเสบ
  • การทดสอบภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนัง ซึ่งสามารถตรวจเพิ่มเติมได้เพื่อหาสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้

 

การรักษาภูมิแพ้ขึ้นตา

โรคภูมิแพ้ การรักษาที่สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ (Allergen) การดูแลรักษาจึงแบ่งเป็น 2 แนวทางหลัก ได้แก่

 

1.  ลดการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้

     เริ่มแรกให้จัดสิ่งแวดล้อมบริเวณที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ใช้เครื่องฟอกอากาศลดฝุ่นเมื่ออยู่ในที่ปิด สวมใส่แมสและแว่นกันฝุ่นลมเมื่อออกนอกบ้าน และการดูแลตนเองที่บ้าน เช่น ไม่ขยี้ตาเพราะอาจทำให้อาการแย่ลง ใช้วิธีประคบเย็นที่ดวงตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง ล้างมือก่อนสัมผัสดวงตา ลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม
 

2.  การรักษาโดยการใช้ยา

     จักษุแพทย์จะเลือกรักษาผู้ป่วยตามระดับความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมีอาการเรื้อรังและไม่รับได้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้ 

 

กลุ่มยาหยอดตาเพื่อรักษาภาวะภูมิแพ้ขึ้นตา มีด้วยกันดังนี้

  • ยาหยอดตาต้านฮีสตามีน - ยับยั้งการหลั่งฮีสตามีนของร่างกาย
  • ยาหยอดตาต้านภูมิแพ้* - ลดอาการและควบคุมอาการแพ้ได้ในระยะยาว 
  • ยาหยอดตาต้านการอักเสบ*
  • ยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ ลดอาการอักเสบ* 
    ยาต้านฮีสตามีนชนิดเม็ด - แนะนำเมื่อเริ่มมีอาการแพ้ในระบบอื่นของร่างกายร่วมด้วย เช่น น้ำมูก ไอ จาม ผื่นบริเวณผิวหนัง เป็นต้น

 

*ควรใช้ยาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์เท่านั้น

 


หากรู้ว่าตนเองมีอาการภูมิแพ้ขึ้นตา ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ไม่ควรปล่อยอาการไว้นาน รีบมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น


 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
 แผนกจักษุ ชั้น 1 โรงพยาบาลรามคำแหง 2
Email:
information@ram2-hosp.com
Line Official: @ram2
โทร: 02-032-3888

 

 


บทความโดย

 

DR.MONTANA SUPAWONGWATTANA
พญ.มัณฑนา ศุภวงศ์วรรธนะ

แพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา
โรงพยาบาลรามคำแหง 2

 

นัดพบแพทย์ นัดหมายแพทย์ Book Appiontment
 

 


แพ็กเกจที่แนะนำ