ต้อกระจก! ความเสื่อมที่รักษาได้ รีบรักษาก่อนสาย
January 07 / 2025

ต้อกระจก

 

 

 

     หนึ่งในความเสื่อมที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้นและเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของภาวะสายตาเลือนรางและตาบอดทั่วโลก คือภาวะต้อกระจก และมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มาพบจักษุแพทย์เมื่อการมองเห็นและภาวะต้อกระจกแย่มากแล้ว หรือที่เรียกทั่วไปว่า "ต้อสุก" ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตา ยากต่อการผ่าตัด และอาจส่งผลเสียในระยะยาวตามมาได้

 

ความรุนแรงของโรคต้อกระจก

     สังคมไทยในปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น จากรายงานของระบบสถิติทางการทะเบียนแจงข้อมูลให้เห็นว่า ในปี 2022 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) คือ มีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 14 ของจำนวนประชากรในประเทศ และคาดการณ์ว่าราวปี 2030 ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society: มีประชากรสูงวันมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรในประเทศ) การดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ควรตระหนักและให้ความสนใจเพิ่มขึ้้น 

 

รู้จักโรคต้อกระจก

     โรคต้อกระจก (Cataract) คือภาวะเลนส์ตาขุ่นซึ่งเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงโปรตีนและสารประกอบในเลนส์ตา ทำให้ความใสของเลนส์เสียไปและส่งผลต่อให้แสงผ่านไปยังจอตาลดลง อย่างไรก็ตาม อาการของ 'ต้อ' ยังแยกย่อยเป็นหลากชนิด เช่น ต้อหิน ต้อเนื้อ ต้อลม

 

สาเหตุของการเกิดต้อกระจก

  • อายุที่มากขึ้น มักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นความเสื่อมตามวัย
  • โรคทางพันธุกรรม มักพบในเด็ก หรือติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน ไวรัสเริม เป็นต้น

 

ปัจจัยกระตุ้นที่เร่งการเกิดภาวะต้อกระจก

  • เคยได้รับอุบัติเหตุหรือการกระทบการแทกบริเวณดวงตา
  • มีประวัติได้รับการวินิจฉัยโรคทางตาบางชนิด เช่น การอักเสบในลูกตา หรือเคยเข้ารับการผ่าตัดในลูกตามาก่อน
  • ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นระยะเวลานาน เช่น ทำกิจกรรมกลางแจ้ง
  • ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทั้งชนิดรับประทานและหยอดตา
  • เคยได้รับการรักษาโดยการฉายรังสีบริเวณศีรษะ หรือยาเคมีบำบัด
  • มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ

 

อาการของต้อกระจก

  • มองเห็นไม่ค่อยเห็นหรือเห็นคล้ายหมอกหรือฝ้าบัง
  • มองเห็นภาพซ้อนในตาข้างใดข้างหนึ่ง
  • แพ้แสง มองเห็นแสงแตกพร่า อาการเป็นมากช่วงกลางคืน
  • เห็นสีสดได้ลดลงหรือเพี้ยนไป แยกความแตกต่างของสีหรือระดับความสว่างยากขึ้น

 

การตรวจวินิจฉัยต้อกระจก

     ผู้ป่วยควรเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการผิดปกติโดยเร็ว ซึ่งประกอบด้วยการตรวจวัดระดับการมองเห็น วัดค่าสายตา วัดความดันตา และขยายรูม่ายตาเพื่อประเมินลักษณะของต้อกระจกและจอประสาทตาโดยละเอียด และวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ที่่ทำให้เกิดอาการตามัวได้เช่นกัน ซึ่งการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องนำไปสู่แนวทางในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับระยะของโรคและการพยากรณ์โรคได้ต่อไป

 

การรักษาต้อกระจก

  • รักษาแบบไม่ผ่าตัด (Conservative treatment) ในกรณีตรวจพบต้อกระจกในระยะเบื้องต้นและยังไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การปรับพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดต้อกระจก จะช่วงชะลอการเกิดต้อกระจกได้ 
  • ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำตามคำแนะนำของจักษุแพทย์
  • สวมแว่นกันแดดที่กรองแสงอัลตราไวโอเลต หลีกเลียงการมองแสงสว่างมากเกินความจำเป็น
  • งดสูบบหรี่ร่วมกับการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดกับดวงตา ใส่เครื่องป้องกันหากต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น สวมใส่แว่นกันการกระแทกเมื่้อตัดหญ้า/ตัดเหล็ก สวมอุปกรณ์กันแสงเมื่อเชื่อมเหล็ก เป็นต้น
  • ทานยาโรคประจำตัวสม่ำเสมอ คุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่แพทย์แนะนำ

 

การผ่าตัดดวงตา

     ข้อบ่งชี้ในการพิจารณาเข้ารับการผ่าตัด คือการมองเห็นแย่ลงจนรบกวนการประกอบกิจวัตรประจำวัน ต้อกระจกสุกหรือมีภาวะแทรกซ้อนจากต้อกระจก เช่น การอักเสบช่องหน้าลูกตา ความดันตาสูง เป็นต้น มี 2 วิธีหลัก ได้แก่

 

1.  การผ่าตัดแผลใหญ่ (Extracapsular Cataract Extraction: ECCE)

     วิธีการผ่าตัดดั้งเดิมที่ใช้ในการณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งมาก ๆ และไม่สามารถสลายด้วยเครื่องได้ ขนาดแผลมีความยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร เพื่อคลอดตัวเลนส์ตาที่สุกออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนจึงเย็บปิดแผล เนื่องจากขนาดแผลค่อนข้างกว้าง จึงใช้เวลาในการผ่าตัดและระยะเวลาในการพักฟื้นนาน

 

2.  การผ่าตัดแผลเล็ก สลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsificaion)

     การผ่าตัดอีกแบบคือการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ขนาดแผลประมาณ 3 มิลลิเมตร ใช้เวลาในการผ่าตัด 30-60 นาที การผ่าตัดด้วยวิธีนี้สามารถแก้ภาวะสายตายาว สั้น และเอียงได้ โดยใช้เลนส์พับที่มีคุณสมบัติดังกล่าว และผู้ป่วยสามารถพักฟื้นที่บ้านได้หลังการผ่าตัด แผลหายเร็ว ระยะเวลาการพักฟื้นน้อย แต่สามารถรักษาได้เมื่อต้อกระจกอยู่ในระยะที่ยังไม่สุกเท่านั้น

 

 


หากมีการมองเห็นเปลี่ยนแปลงและกังวลเรื่องต้อกระจก ควรเข้ารับการตรวจกับจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุด ไม่ควรปล่อยให้การมองเห็นแย่ลงเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง ยากต่อการรักษา และส่งผลกระทบในระยะยาวได้


 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://eyewiki.org/Cataract 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
 แผนกจักษุ ชั้น 1 โรงพยาบาลรามคำแหง 2
Email:
information@ram2-hosp.com
Line Official: @ram2
โทร: 02-032-3888

 

 


บทความโดย

 

DR.MONTANA SUPAWONGWATTANA
พญ.มัณฑนา ศุภวงศ์วรรธนะ

แพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา
โรงพยาบาลรามคำแหง 2

 

นัดพบแพทย์ นัดหมายแพทย์ Book Appiontment
 

 


แพ็กเกจที่แนะนำ