การฉายรังสีด้วยเทคนิค VMAT: ทางเลือกในการรักษามะเร็งอย่างแม่นยำ

December 11 / 2024

ฉายรังสี vmat

 

 

 

     เทคนิคการฉายรังสี VMAT หรือ Volumetric Modulated Arc Therapy เป็นเทคโนโลยีการฉายรังสีที่สามารถปรับความเข้มของรังสีให้เหมาะสมกับรูปร่างของเนื้องอกหรือบริเวณที่เสี่ยงมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ ตัวเครื่องสามารถหมุนรอบตัวผู้ป่วย ทำให้รังสีเข้าถึงเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมและสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับการฉายรังสีแบบเดิม

 

เทคนิคการฉายรังสี VMAT ทำงานอย่างไร?

  • ผู้ป่วยจะนอนอยู่บนเตียงรักษา ภายในห้องฉายรังสี เครื่องฉายรังสี Linear Accelerator (LINAC) จะหมุนรอบตัวผู้ป่วยเพื่อฉายรังสีไปยังเนื้องอกจากหลายทิศทาง
  • ระหว่างการหมุนของเครื่อง ระบบจะปรับรูปร่างของลำรังสีให้สอดคล้องกับรูปร่างและตำแหน่งของเนื้องอกในแต่ละมุม พร้อมทั้งปรับระดับความเข้มของรังสีในเวลาเดียวกัน

 

 

 


เทคนิคนี้ช่วยให้เนื้องอกได้รับปริมาณรังสีสูงสุดและยังช่วยลดผลกระทบจากอวัยวะข้างเคียงอย่างมาก

 

 

 

จุดเด่นของการฉายรังสี VMAT

     จุดเด่นของเทคนิคการฉายรังสี VMAT คือ ความสามารถในการปรับความเข้มและรูปร่างของลำรังสีระหว่างการหมุนของเครื่อง LINAC ซึ่งช่วยให้การรักษามีความแม่นยำสูงขึ้นและลดการกระทบกระเทือนต่อเนื้อเยื่อปกติหรืออวัยวะสำคัญที่อยู่ใกล้เคียง 

 

ข้อดีของการรักษาด้วยเทคนิคการฉายรังสี VMAT

  • รวดเร็วและสะดวก: การฉายรังสีด้วยเทคนิคการฉายรังสี VMAT ใช้เวลาเพียง 3-5 นาทีต่อครั้ง ซึ่งสั้นกว่าการฉายรังสีแบบดั้งเดิมที่อาจใช้เวลานานถึง 10-15 นาที
  • แม่นยำและลดผลข้างเคียง: การฉายรังสี VMAT สามารถส่งรังสีไปยังเนื้องอกได้อย่างแม่นยำจากหลายมุม ลดการกระทบต่อเนื้อเยื่อปกติและลดความเสี่ยงของผลข้างเคียง

 

ใครบ้างที่เหมาะกับการรักษาด้วยเทคนิคการฉายรังสี VMAT

     เทคนิคการฉายรังสี VMAT เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่แผนการฉายรังสีมีความซับซ้อน เนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่ยากต่อการรักษาหรือใกล้อวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น ใกล้กับสมอง ปอด หัวใจ หรือกระดูกสันหลัง ซึ่งต้องการการรักษาที่มีความละเอียดและเฉพาะเจาะจง 

 

 

 

ฉายรังสี VMAT

 

 

การฉายรังสีบริเวณเต้านมด้วยเทคนิคการฉายรังสี VMAT

     การฉายรังสีเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการรักษามะเร็งเต้านม โดยเฉพาะหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค อย่างไรก็ตาม การฉายรังสีบริเวณเต้านมมีความซับซ้อนเป็นพิเศษในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ให้ฉายรังสีต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากตำแหน่งของเต้านมและต่อมน้ำเหลืองอยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจและปอด การเลือกใช้เทคนิคการฉายรังสีที่ลดผลกระทบต่ออวัยวะเหล่านี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง


ข้อดีของเทคนิคการฉายรังสี VMAT

1.  ลดผลกระทบต่อหัวใจและปอด

     โดยเฉพาะในกรณีมะเร็งเต้านมด้านซ้ายเทคนิคการฉายรังสี VMAT ช่วยลดปริมาณรังสีที่หัวใจได้รับ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจจากรังสีในระยะยาว

 

2.  ความแม่นยำสูง

     เทคนิคการฉายรังสี VMAT สามารถปรับปริมาณรังสีให้สอดคล้องกับรูปร่างของเนื้องอก ลดการทำลายเนื้อเยื่อปกติ และลดความเสี่ยงของการเกิดจุดที่ได้รับรังสีเกินกำหนด (hot spots)

 

3.  ระยะเวลาการรักษาสั้นลง

     การฉายรังสีในแต่ละครั้งใช้เวลาน้อยลงเมื่อเทียบกับเทคนิคเดิม ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและลดความเหนื่อยล้าสำหรับผู้ป่วย

 

4.  การออกแบบการรักษาเฉพาะบุคคล

     เทคนิคการฉายรังสี VMAT ใช้ภาพถ่ายสามมิติ (3D imaging) ในการวางแผนการรักษา ทำให้แผนการฉายรังสีเหมาะสมกับกายวิภาคของผู้ป่วยแต่ละราย

 

 

คำแนะนำจากแพทย์

     เทคนิคการฉายรังสี VMAT เป็นหนึ่งในเทคนิคที่เหมาะสมสำหรับการฉายรังสีรักษามะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องฉายรังสีบริเวณต่อมน้ำเหลืองร่วมด้วย ความสามารถในการเพิ่มความแม่นยำ ลดผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญ และลดระยะเวลาการรักษาช่วยให้ผู้ป่วยได้รับผลลัพธ์ที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้เทคนิคนี้ควรพิจารณาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะของผู้ป่วยแต่ละราย

 

 

 


อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาว่าเทคนิคนี้เหมาะสมกับแผนการรักษาของตนหรือไม่

 

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
 ศูนย์รังสีรักษา 4 มิติ ตึก LINAC CENTER โรงพยาบาลรามคำแหง 2
Email:
information@ram2-hosp.com
Line Official: @ram2
โทร: 02-032-3888

 

 


บทความโดย

 

นพ.ณัฏฐกร ธนมิตรสมบูรณ์
นพ.ณัฏฐกร ธนมิตรสมบูรณ์

แพทย์เฉพาะทางด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
โรงพยาบาลรามคำแหง 2

 

นัดพบแพทย์ นัดหมายแพทย์ Book Appiontment