ไอกรน อาการไอที่รุนแรง ติดต่อกันง่าย ทั้งในเด็กเล็กและผู้ใหญ่ สามารถป้องกันได้ถ้าเรารู้วิธี
November 21 / 2024

 

ไอกรน

 

 

          หลายๆ คนมักเข้าใจผิดคิดว่าโรคไอกรนเป็นแค่อาการไอธรรมดา มักเกิดขึ้นได้เฉพาะในเด็กเล็กเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วโรคไอกรนสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นโรคไอกรนได้เช่นกันทั้งนี้อาการจะไม่รุนแรงเท่าเด็กเล็กและทารก ถึงแม้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนแล้วแต่หากภูมิคุ้มกันลดลงและไม่ได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อไอกรนได้


          โรคไอกรนพบได้ทั้งในเด็กเล็กและผู้ใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella
pertussis การติดเชื้อนี้มักส่งผลให้เกิดอาการไอรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตโดยรวมได้อย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กและทารก 

 


อาการของโรคไอกรน

 

  • ระยะเริ่มแรก: คล้ายอาการหวัด มีไข้ต่ำๆ น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ ไอนานติดต่อกันเกิน 10 วัน
  • ระยะไอรุนแรง: ไอเป็นชุดๆ ติดต่อกันหลายครั้ง ตามด้วยการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียงวู๊บ (whooping sound) อาจทำให้หน้าแดง กลั้นหายใจ หรืออาเจียน ปอดอักเสบ บางครั้งเด็กอาจจะมีหน้าเขียว เพราะหายใจไม่ทันโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ อายุน้อยกว่า 6 เดือน จะพบอาการหน้าเขียวได้บ่อย และบางครั้งมีการหยุดหายใจร่วมด้วย
  • ระยะฟื้นตัว: อาการไอค่อยๆ ทุเลาลง แต่ยังคงมีอาการไอเรื้อรังได้นาน 2-3 สัปดาห์ และอาการไอจะค่อยๆ ทุเลาลงแต่ก็จะมีอาการไอต่อเนื่องไปอีก 6 - 10 สัปดาห์

 

 

สาเหตุและการแพร่กระจาย


          เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis ในส่วนของการแพร่กระจายสามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านละอองฝอยจากการไอหรือจาม ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน ควรพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค 

 

 

กลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง

 

  • เด็กเล็กและทารก: มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
  • ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน: มีโอกาสติดเชื้อสูงกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ: เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยเอชไอวี

 

 

การวินิจฉัย

 

  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: การเพาะเชื้อจากเสมหะ การตรวจหาเชื้อไอกรนจากเสมหะ (โดยวิธี PCR) และการตรวจหาภูมิคุ้มกันในร่างกาย
  • การตรวจร่างกาย: แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อประเมินอาการและฟังเสียงปอด

 

 

ภาวะแทรกซ้อนที่ควรระวังเป็นพิเศษ


ภาวะแทรกซ้อนในเด็กเล็ก:

 

  • หยุดหายใจ: เกิดจากการมีเสมหะเหนียวไปอุดในหลอดลมและถุงลม ทำให้เกิดการหดตัวหรือปิดกล้ามเนื้อหรือหลอดลมในปอด ซึ่งทำให้อากาศไม่สามารถถ่ายเทได้ ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจในระยะเวลานานๆ 
  • ปอดอักเสบ: เป็นสาเหตุของการเสียขีวิตที่สำคัญของโรคไอกรนในเด็กเล็ก เนื่องจากอาการไอที่รุนแรงและต่อเนื่องทำให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจอ่อนล้า ทำให้เด็กหายใจไม่ทันและเชื้อโรคไอกรนไปทำให้เกิดการอักเสบที่หลอดลม ทำให้หลอดลมตีบแคบลง ส่งผลให้การหายใจลำบากมากขึ้น
  • ภาวะชัก: เกิดจากการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองขณะไอรุนแรงและอาการชักอาจเกิดจากมีเลือดออกในสมอง

 

ภาวะแทรกซ้อนในผู้ใหญ่:

 

  • กระดูกซี่โครงหัก: เกิดจากการไอรุนแรงและบ่อยครั้ง ต่อเนื่อง อาจทำให้กระดูกซี่โครงหักได้
  • มีเลือดออกในเยื่อบุ: บริเวณตาเกิดจากการไอมากๆ และจุดเลือดออกที่บริเวณหน้าและในสมอง
  • ปัสสาวะราด: การไอแรงๆ ทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น อาจทำให้กล้ามเนื้อปัสสาวะอ่อนแรง และเกิดอาการปัสสาวะราดได้
  • ภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรัง: อาจเกิดจากการที่ปอดทำงานหนักเกินไป การไอเรื้อรังอาจส่งผลต่อการทำงานและทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงได้
  • ในการตั้งครรภ์: หญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคไอกรนมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และทารกอาจมีน้ำหนักน้อย
  • หูก้อง: การอักเสบของหลอดท่อ (Eustachian tube) เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลาง และโพรงหลังจมูก ทำให้เกิดอาการหูอื้อ

 

 

การรักษา

 

  • ยาปฏิชีวนะ: หากรักษาได้แล้วการใช้ยาให้กับผู้ป่วยในช่วง 3-4 วันแรกจะสามารถลดความรุนแรงได้ แต่หากมีอาการป่วยมาสักระยะการให้ยาอาจจะไม่ได้ผลในการลดอาการไอ แต่เป็นการฆ่าเชื้อเพื่อลดระยะเวลาการแพร่กระจายของโรค
  • การดูแลทั่วไป: ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมและอากาศถ่ายเทได้ดี และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับควันไฟและควันบุหรี่

 

 

การป้องกัน

 

  • การให้วัคซีน: เป็นวิธีการป้องกันโรคไอกรนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 
    • ทารก : ควรที่จะได้รับวัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นตั้งแต่แรกเกิดคือ วัคซีนรวมคอตีบ ไอกรน บาดทะยักและฮิบ: เมื่อตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และได้รับการกระตุ้นที่อายุ 1.5  ปี และอายุ 4-6 ปี เพื่อลดอาการป่วยที่รุนแรง และอาจก่อให้เกิดความพิการหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ 
    • ผู้ใหญ่ : ถึงแม้จะได้เคยได้รับวัคซีนไปแล้วเมื่อวัยเด็ก แต่หลังจากอายุ 10 ปีขึ้นไปภูมิคุ้มกันของโรคก็จะตกลงเรื่อยๆ ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนจะเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับผู้ใหญ่ได้ โดยแนะนำให้ฉีดกระตุ้นพร้อมวัคซีนบาดทะยักทุก 10 ปี
    • หญิงตั้งครรภ์ : แนะนำให้ฉีดวัคซีนรวม บาดทะยัก ไอกรน คอตีบ ทุกการตั้งครรภ์เพื่อให้ภูมิคุ้มกันสามารถส่งผ่านทารกแรกเกิดได้ โดยแนะนำให้ฉีดในช่วงอายุครรภ์ 27 -36 สัปดาห์
  • การรักษาสุขอนามัย: ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจาม และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย

 


         

หากสงสัยว่าตนเองหรือบุตรหลานมีอาการของโรคไอกรน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย รักษา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งการรับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนเพื่อลดอาการรุนแรงและกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของโรค

 


 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
 แผนกเด็ก ชั้น 1 โรงพยาบาลรามคำแหง 2
Email:
information@ram2-hosp.com
Line Official: @ram2
โทร: 02-032-3888, 095-771-9739

 


แนะนำแพทย์แผนกเด็ก