รับมือกับโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็ก ที่มักพบได้บ่อย
October 22 / 2024

 

รับมือกับโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็ก ที่มักพบได้บ่อยๆ

 

 

          ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยในเด็ก และมีความรุนแรงมากกว่าหวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่มักเกิดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว และแพร่กระจายได้ง่ายจากคนสู่คนผ่านละอองฝอยจากการไอ จาม หรือสัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัส ผู้ป่วยเด็กมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่ ดังนั้นการรู้เท่าทันอาการ การรักษา และการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ปกครอง

 

 

สาเหตุของไข้หวัดใหญ่


          ไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัส Influenza ซึ่งมีสายพันธุ์หลักๆ 3 สายพันธุ์ ได้แก่

 

  1. Influenza A: สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคได้รุนแรงและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยสายพันธุ์ที่มีการระบาดเป็นประจำคือ A(H1N1), A(H1N2), A(H3N2), A(H5N1) และ A(H9N2)
  2. Influenza B: มักพบในช่วงฤดูหนาวและก่อให้เกิดการระบาดในบางพื้นที่  โดยสายพันธุ์ที่มีการระบาดเป็นประจำคือ Victoria และ Yamagata
  3. Influenza C: สายพันธุ์ที่พบได้น้อยและมักไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง

 

 

ระยะฟักตัวของไวรัส ประมาณ 1-3 วัน

 

 

 

 

อาการของไข้หวัดใหญ่ในเด็ก


          อาการของไข้หวัดใหญ่ในเด็กอาจคล้ายกับไข้หวัดธรรมดาในช่วงแรก แต่สามารถพัฒนาไปสู่ภาวะที่รุนแรงกว่าได้ โดยอาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • ไข้สูงเฉียบพลัน
  • หนาวสั่น
  • ไอแห้ง
  • เจ็บคอ
  • ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย, ปวดเมื่อยตัว
  • น้ำมูกไหล, คัดจมูก
  • อาการทางเดินหายใจ เช่น หายใจเร็ว หายใจลำบาก

 

          ในบางกรณีเด็กอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ ปอดอักเสบ หรือลำไส้อักเสบ อาเจียน ถ่ายเหลว ชักจากไข้สูง ซึ่งอาจเป็นอันตรายหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

 

การรักษาไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

 

         การรักษาไข้หวัดใหญ่ในเด็ก ที่มีการบรรเทาอาการ ในกรณีที่เด็กมีอาการรุนแรง, มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน มีหลักการรักษาหลักได้แก่

 

  1. การรักษาประคับประคองอาการ บรรเทาตามอาการ และการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง เช่น การให้ยาต้านไวรัส Oseltamivir หรือ Zanamivir
  2. การให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการไข้ และปวดกล้ามเนื้อ
  3. การดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  4. การพักผ่อนให้เพียงพอ

 

         ในกรณีที่เด็กมีอาการไอ หายใจลำบาก หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

 

 

 

 

การป้องกันไข้หวัดใหญ่ในเด็ก


          วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้หวัดใหญ่คือการฉีดวัคซีน วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงในการลดความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวหรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

 

 

วิธีป้องกันอื่นๆ ที่ควรทำได้แก่

 

  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำอย่างสม่ำเสมอ
  • สอนให้เด็กปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชู่เมื่อไอหรือจาม
  • หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในที่ที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาดของโรค หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัยให้เด็ก
  • ทำความสะอาดของใช้และพื้นผิวที่เด็กสัมผัสบ่อย

 

 

เมื่อใดควรพาเด็กไปพบแพทย์

 

  • เด็กมีไข้สูงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาพาราเซตามอล
  • เด็กไอ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
  • เด็กมีอาการซึม ไม่กิน ไม่ดื่ม
  • เด็กมีอาการปวดหูรุนแรง
  • เด็กมีผื่นขึ้นตามตัว
  • เด็กมีอาการชัก

 

 

          ไข้หวัดใหญ่ในเด็กเป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และเด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะไวรัสไข้หวัดใหญ่มักเปลี่ยนสายพันธุ์ในทุกปี วัคซีนเดิมที่รับไปแล้วอาจจะไม่สามารถป้องกันได้ครอบคลุมกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ ผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และหากพบว่าเด็กมีอาการรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่บ้าน ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
 แผนกเด็ก ชั้น 1 โรงพยาบาลรามคำแหง 2
Email:
information@ram2-hosp.com
Line Official: @ram2
โทร: 02-032-3888, 095-771-9739

 


แนะนำแพทย์แผนกเด็ก

 

 

 


แพ็กเกจที่แนะนำ