เบาหวานขึ้นตา ภาวะแทรกซ้อนที่อาจสูญเสียการมองเห็นได้
April 23 / 2024

 

เบาหวานขึ้นตา รักษา

 

 

          อุบัติการณ์เกิดโรคเบาหวานยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกๆ ปี จากข้อมูลของสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Mellitus: IDM) ทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานมากถึง 537 ล้านคน มากกว่า 90% เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกือบครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัย คาดว่าภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน และภายในปี 2588 จะเพิ่มมากถึง 783 ล้านคน จากรายงานสถิติสาธารณสุขไทย มีแนวโน้มเช่นเดียวในปี 2565 มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 3.3 ล้านคน และพบผู้ป่วยใหม่ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 3 แสนคน

 

 

เบาหวาน: ผลสืบเนื่องสู่โรคตา

 

          จากสถิติดังกล่าว เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการรักษาควบคุมโรค และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาภายหลัง ป้องกันการสูญเสียอวัยวะที่สำคัญ รวมไปถึงดวงตาที่เรียกว่าภาวะเบาหวานขึ้นตา หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่ตรวจคัดกรองได้ง่าย เพื่อผลกระทบรุนแรงจนอาจนำไปสู่การเสียการมองเห็นถาวร

 

อ่านเพิ่มเติม: โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น แม้ัเรื่องเหมือนไม่ใหญ่ แต่ซับซ้อนกว่าที่คิด

 

 

โรคเบาหวานขึ้นตา

 

          เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ซึ่งส่งผลต่อดวงตาจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานาน ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายรวมทั้งหลอดเลือดที่จอประสาทตาได้รับความเสียหาย ความเสียงของการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตาเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาในการเกิดโรคและระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานาน

 

 

ระยะของเบาหวานขึ้นตา

 

  1. ระยะที่ยังไม่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Non-proliferative Diabetic retinopathy: NPDR)- เป็นระยะที่ผนังหลอดเลือดในจอตาอ่อนแอลง ส่งผลให้สามารถพบจุดเลือดออก ของเหลวสะสมในจอตา จอตารอบนอกบวม อาจพบการรั่วของเส้นเลือดบริเวณจุดรับภาพชัด (macula) ส่งผลให้มีอาการตามัว มองไม่ชัดได้ 
  2. ระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Proliferative Diabetic retinopathy: PDR) - เบาหวานขึ้นตาที่มีการดำเนินโรครุนแรงมากขึ้น โดยเส้นเลือดที่เสียหายไม่สามารถทำงานได้ นำไปสู่ภาวะจอตาขาดเลือดและเกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ (neovascularization) หลอดเลือดเหล่านี้มีลักษณะเปราะและแตกง่าย ทำให้มีเลือดออกในตา จุดภาพชัดบวม เกิดพังผืดดึงรั้งจอตา จอตาฉีกขาดจนสูญเสียการมองเห็น นอกจากนี้ หากมีหลอดเลือดใหม่เกิดบริเวณม่านตา (iris) หรือมุมตา หลอดเลือดเหล่านี้อาจขัดขวางการระบายของของเหลว (Aqueous humor) ในช่องหน้าลูกตา ทำให้ความดันลูกตาสูง และเกิดโรคต้อหินภายหลังได้

 

 

เบาหวานขึ้นตา รักษา

 

 

อาการของเบาหวานขึ้นตา

 

     เบาหวานขึ้นตามักไม่มีอาการหรือความผิดปกติใด ๆ แม้อยู่ในระยะที่รุนแรงแล้วก็ตาม ทำให้ผู้ป่วยละเลยการตรวจตา แต่มักทราบเมื่อเบาหวานขึ้นตาในระยะท้าย ทำให้มีอาการ

 

  • การมองเห็นลดลง
  • มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำลอยไปมา หรือเห็นสีแดงฟุ้งทั่วตา
  • มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
  • แยกแยะสีได้ยากขึ้น

 

 

การวินิจฉัยเบาหวานขึ้นตา

 

     ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจตา และขยายม่านตาตรวจจอตาหรือถ่ายภาพจอตา แม้ไม่มีอาการผิดปกติทางการมองเห็น เพื่อคัดกรองเบาหวานขึ้นตาหลังได้รับการวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด และตรวจคัดกรองต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ นอกจากนั้นแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจตาในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในระหว่างตั้งครรภ์ส่งผลให้ภาวะเบาหวานขึ้นตารุนแรงขึ้นได้

 

 

เบาหวานขึ้นตา รักษา

 

 

การรักษาเบาหวานขึ้นจอตา

  

  • การรักษาด้วยเลเซอร์ เพื่อให้หลอดเลือดงอกใหม่ฝ่อลงและควบคุมการรั่วซึม ซึ่งต้องทำในระยะที่เลือดยังไม่ออกมากจนบังจอประสาทตา อาจต้องแบ่งยิงหลายครั้งเพื่อป้องกันภาวะจอตาบวมจากเลเซอร์ อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยเลเซอร์สามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้ระดับหนึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเบาหวานขึ้นตา และมีผลข้างเคียงของการรักษาคือเสียลานสายตารอบข้างได้
  • การฉีดยาเข้าวุ้นตา เพื่อยับยั้งการเกิดหลอดเลือดงอกใหม่ ลดจอตาบวม วิธีการรักษานี้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นโดยไม่สูญเสียลานสายตา แต่ฤทธิ์ยาอยู่ได้ไม่นานและมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดยาเข้าวุ้นตา เช่น การอักเสบติดเชื้อ เลือดออกในน้ำวุ้นตา และการเกิดจอตาลอก เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อยกว่าร้อยล 1  
  • การผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) กรณีที่จอประสาทตาฉีกขาด เลือดออกในน้ำวุ้นตาเรื้อรัง หรือมีจอตาลอดจากพังผืดดึงรั้ง การผ่าตัดวุ้นตาอาจช่วยป้องกันไม่ให้โรคลุกลาและซ่อมแซมจอตาที่ลอกให้กลับเข้าที่เดิม ผลการมองเห็นหลังการผ่าตัดดีขึ้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย 

  

  

วิธีการป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานขึ้นตา

 

  • ควบคุมระดับน้ำตาล ระดับไขมันในเลือด และความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งจากการทานยา/ฉีดยาสม่ำเสมอ และการปรับพฤติกรรมการทานอาหารและออกกำลังกาย
  • งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงการมองเห็น หากมีการมองเห็นลดลง หรือ มองเห็นผิดปกติ ควรพบจักษุแพทย์ทันที
  • ตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นตาเป็นประจำทุกปี หรือตามแพทย์แนะนำ

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
 แผนกจักษุ ชั้น 1 โรงพยาบาลรามคำแหง 2
Email:
information@ram2-hosp.com
Line Official: @ram2
โทร: 02-032-3888

 


แนะนำแพทย์แผนกจักษุ

 

 


แพ็กเกจที่แนะนำ